Month: กรกฎาคม 2020

ประคบร้อน ประคบเย็น ต่างกันตรงไหน ควรเลือกใช้ให้ถูกวิธี

ลูกประคบสมุนไพร

ลูกประคบสมุนไพร อาจไม่เป็นที่รู้จักในหมู่เด็กยุคใหม่ แต่สำหรับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่และปู่ย่า ตายาย ล้วนแต่รู้จักและใช้รักษาอาการต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน ปัจจุบันการแพทย์ทางเลือกหรือแพทย์แผนไทย นิยมใช้บำบัดรักษา เนื่องจากมีผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นต่าง ๆ มากขึ้น แม้ในแวดวงกีฬาและสันทนาการ เพื่อเป็นความรู้ให้กับคนทั่วไปได้เลือกใช้ลูกประคบให้เหมาะสมกับอาการเจ็บบาดเจ็บ เมื่อเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินกะทันหัน เช่น หกล้ม สะดุด ตกบันได หรือเกิดอุบัติเหตุอื่น ๆ อย่างน้อยก็จะช่วยบรรเทาอาการก่อนจะไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไปได้

  • การประคบร้อน ใช้เพื่อช่วยลดอาการปวดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ได้แก่ อาการปวดเมื่อย และตึงกล้ามเนื้อบริเวณ บ่า หลัง ไหล่ ต้นคอ น่อง ต้นขา และอาการปวดประจำเดือน โดยเริ่มประคบหลังจากมีอาการแล้วประมาณ 48 ชั่วโมง โดยใช้ผ้าขนหนู กระเป๋าน้ำร้อน หรือลูกประคบ ที่ไม่ร้อนจัดจนเกินไป ประคบบริเวณที่ปวดตึงครั้งละ 20-30 นาทีประมาณ 2-3 ครั้งต่อวัน ไม่ควรประคบในบริเวณที่มีบาดแผลหรือมีเลือดออก หรือประคบนานเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มมากขึ้น ประโยชน์ของลูกประคบสมุนไพร ใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อย ช่วยลดอาการบวมอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ ช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อและข้อต่อ และยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตให้ดียิ่งขึ้นด้วย
  • การประคบเย็น สามารถทำได้ทันทีเมื่อมีอาการปวดหรือได้รับบาดเจ็บเช่น ปวดศีรษะ เป็นไข้ ปวดฟัน ข้อเท้าบวม เคล็ด เลือดกำเดาไหล หรือ มีอาการปวดบวมตามร่างกายในบริเวณอื่น ๆ โดยใช้น้ำแข็งหรือเจลทำความเย็นประคบตรงจุดที่มีอาการ วันละ 2-3 ครั้ง ประมาณครั้งละ 20 นาที

สำหรับการเลือกใช้การประคบด้วยความร้อนหรือความเย็นนั้นมีหลักพิจารณาเบื้องดังนี้

  1. หากผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บเฉียบพลันร่วมกับอาการบวมอย่างเห็นได้ชัด ควรเลือกใช้การประคบเย็น เพราะความเย็นช่วยลดอาการบวม อักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเส้นเลือดฝอยภายในกล้ามเนื้อฉีกขาดลง
  2. มีอาการปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือเรื้อรัง อาจมีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อร่วมด้วย แนะนำให้ใช้การประคบร้อนเพื่อช่วยลดอาการปวดและคลายกล้ามเนื้อ
  3. สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคความดันโลหิตสูง ควรระมัดระวังเรื่องการประคบเย็น เพราะความเย็นจะทำให้หลอดเลือดส่วนปลายหดตัว ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้นได้ หรือเป็นโรคแพ้ความเย็นอย่างรุนแรง บางรายอาจแสดงอาการโดยมีผื่นแดงเกิดขึ้น เป็นต้น
  4. กรณีผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่มีอาการปวดบวมอักเสบ เอ็น ข้อ กล้ามเนื้อ ไม่ควรใช้การประคบด้วยอุณหภูมิที่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

หากจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือบำบัดรักษาอาการปวดบวมเบื้องต้น ควรพิจารณาให้รอบคอบ หรือสอบถามผู้รู้ก่อนตัดสินใจ ทางที่ดีรีบไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที

3 เมนูคลีนเพื่อสุขภาพ ทำเองได้ อร่อยด้วย

ในยุคสมัยที่ใคร ๆ ก็หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ อาหารคลีนจึงเป็นตัวช่วยสำคัญอีกประการหนึ่งที่คุณสาว ๆ นิยมสร้างสรรค์วัตถุดิบที่หาได้ตามตลาดนัดและซุปเปอร์มาร์เก็ต มาปรุงเป็นเมนูเพื่อดูแลสุขภาพ ลดน้ำหนัก รักษารูปร่างและเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ แต่ทว่าการกินอาหารคลีนเมนูเดิมซ้ำ ๆ บ่อยครั้งก็อาจจะจะทำให้คุณรู้สึกเบื่อได้ ดังนั้นวันนี้เรามีเมนูอาหารคลีนมาแนะนำ 3 เมนู ที่คุณสามารถซื้อวัตถุดิบมาทำกินเองได้ง่าย ๆ เลยทีเดียว

ต้มยำคลีน

1.ต้มยำรวมมิตร เป็นเมนูยอดนิยม ที่เปิดโอกาสให้เราได้เลือกสรรวัตถุดิบได้สารพัดจัดเต็ม ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ประเภทต่าง ๆ เช่น อกไก่ ปลาดอลลี่ กุ้ง หรือปลาหมึก และเห็ดนานาชนิดตามชอบใจ ส่วนผสมและเครื่องปรุงที่ขาดไม่ได้คือเครื่องต้มยำ เช่น ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริกสด มะนาว ผักชีฝรั่ง เพิ่มสีสันด้วยน้ำพริกเผา หรือถ้าชอบต้มยำน้ำข้น ก็สามารถเติมนมจืดลงไปสักนิดหน่อยจะช่วยให้รสชาติละมุนลิ้นมากยิ่งขึ้น จากนั้นก็ใส่น้ำประมาณ 2 ส่วน 3 ลงในหม้อต้ม พอเดือด ใส่เครื่องต้มยำ ตามด้วยอกไก่หรือเนื้อสัตว์ที่เตรียมไว้ รอจนเนื้อสัตว์สุกจึงใส่เห็ด ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว ซอสหอยนางรม เติมใบมะกรูดและผักชีฝรั่งลงไป เป็นอันเสร็จพิธี เวลาจะกินก็ตักใส่ภาชนะ บีบมะนาวเพิ่ม ใส่น้ำพริกเผาหรือเติมนมจืดเพื่อสร้างสีสันและรสชาติที่เข้มข้น

2.เมนูอกไก่พริกไทดำ นำอกไก่มาล้าง พักไว้ให้แห้ง ทุบกระเทียมพริกไทย เม็ดรากผักชี เตรียมไว้คลุกหมักอกไก่ แล้วนำไปแช่ในตู้เย็นทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที จากนั้นตั้งกระทะให้ร้อนใส่น้ำมันมะกอกเล็กน้อย แล้วจึงนำอกไก่ลงผัดในกระทะ เติมน้ำเล็กน้อยผัดจนสุก เติมเกลือหรือซีอิ๊ว แล้วจึงตักใส่จานที่มีผักต้มหลากสีสัน เช่น แครอท, บรอกโคลี, ข้าวโพดอ่อน, ฟักทอง, ถั่วลันเตา, ถั่วฝักยาว ฯลฯ ที่จัดวางเรียงรายอยู่รอบจานสวยงามน่ารับประทาน

แกงส้มมะละกอ

3.แกงส้มมะละกอใส่กุ้งสด แกงส้มเป็นอาหารยอดนิยมของคนไทย แตกต่างกันไปตามวัตถุดิบท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค สีสันของแกงส้มอยู่ที่ความลงตัวของผักนานาชนิดที่เลือกใช้ กับรายละเอียดปลีกย่อยของเครื่องปรุงพริกแกง ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกมากมายในซุปเปอร์มาร์เก็ต ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกแกงส้มของภาคกลาง หรือว่าพริกแกงเหลืองของภาคใต้ที่เติมขมิ้นลงไปเป็นตัวชูรส เติมด้วยเนื้อสัตว์ที่เตรียมไว้ หรือถ้าจะให้ได้ประโยชน์ที่หลากหลายขึ้น ลองเปลี่ยนมาใช้เนื้อปลาทูน่าแทนกุ้ง โขลกรวมกับเครื่องแกงส้ม ก็จะยิ่งเพิ่มความเข้มข้นให้กับน้ำแกงส้มและเพิ่มโปรตีนที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้นด้วย

ไม่ยากเลยใช่ใหมคะ สำหรับ 3 เมนูที่นำมาฝากกัน แถมท้ายด้วยหลักการเลือกแหล่งวัตถุดิบคลีนแบบพื้นฐาน เพื่อให้ได้แหล่งโปรตีนที่หาง่ายและราคาไม่แพง เช่น อกไก่/สันในหมู/ไข่ ส่วนคาร์โบไฮเดรตที่แนะนำได้แก่ ข้าวกล้อง/ข้าวไรซ์เบอรี่ มีไฟเบอร์และวิตามินแร่ธาตุ ๆ หลายชนิด โดยเฉพาะข้าวไรซ์เบอรรี่นั้นมี แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) จัดอยู่ในกลุ่มของฟลาโวนอยด์หรือสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยซ่อมแซมเซลล์ผิวและป้องกันแดด ส่วนไขมันดีได้จาก ไข่/ถั่วและนมอัลมอนด์ ส่วนผักเน้นผักที่ชอบและสีสันสวยงาม เช่น แครอท, ข้าวโพด, บรอกโคลี่, มันม่วง, ฟักทอง ฯลฯ ควรเพิ่มเครื่องเทศ จำพวก กระเทียม, พริกไทย, หอมใหญ่, ตะไคร้, กระเพรา เป็นต้น เพื่อเพิ่มรสชาติ แต่เครื่องปรุงหรือผงปรุงรสต่าง ๆ ให้ใส่แต่น้อย หรือจะไม่ใส่เลยก็ยิ่งดี เพราะเราจะได้รับแต่คุณภาพและรสชาติดั้งเดิมของวัตถุดิบล้วน ๆ