Month: มกราคม 2019

การดูแลสุขภาพผู้สูงวัยในบ้านให้ปลอดโรค ปี 2019

ประเทศไทยของเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้วในปี 2019 ซึ่งมีการศึกษาว่าจะมีผู้สูงวัยอายุเฉลี่ยยาวนานถึง 80 ปีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับผู้สูงอายุที่บุตรหลานต้องให้ความสนใจ เพื่อลดภาระในการดูแลยามเจ็บป่วยและป้องกันปัญหาค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงตามมาในอนาคตด้วย

โรคเกี่ยวกับหัวใจและเส้นเลือด

มักเกิดจากการขาดการออกกำลังกายมาเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากการทำงานค่อนข้างหนักมาตลอดชีวิต ร่วมกับการมีวิถีชีวิตที่ไม่เหมาะสม ทั้งการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม และการพักผ่อนที่ไม่สมดุลตามหลักการแพทย์

วิธีการดูแลสุขภาพในโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและเส้นเลือดจึงต้องปรับที่อาหารการกิน บุตรหลานต้องดูแลที่การเพิ่มโปรตีนจากถั่ว เนื้อปลาที่ย่อยง่าย เนื้อไก่ที่มันน้อย ทำให้ซ่อมแซมร่างกายได้ดี ปรับสมดุลไขมัน และน้ำตาลในเส้นเลือดได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ควรเลือกใช้น้ำมันพืชที่มีโอเมก้า3 สูง สำหรับช่วยลดระดับ cholesterol ในเส้นเลือดได้อีกทางหนึ่งด้วย

ส่วนการออกกำลังกาย ควรพาไปเล่นโยคะหรือเดินเล่นในสวนเป็นประจำเพื่อให้อารมณ์ผ่อนคลายและหลับง่ายขึ้น ซึ่งส่งผลโดยรวมในเชิงบวกต่อภาวะสุขภาพผู้สูงอายุ

โรคเกี่ยวกับกระดูกและไขข้อ

เรียกได้ว่าปัญหาข้อเสื่อม กระดูกพรุนเป็นโรคที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย จะเดินทางไปไหน ก็จะมีความยากลำบาก ปวดตามข้อต่อทั่วร่างกายอยู่เสมอ อันเนื่องจากผู้หญิงในวัยที่ประจำเดือนจะมีฮอร์โมนที่ช่วยป้องกันภาวะกระดูกพรุนอยู่ แต่เมื่อเข้าสู่วัยทองจะขาดฮอร์โมนนี้ไป และในผู้ที่แต่งงานมีบุตร ก็จะมีการสูญเสียแคลเซียมไปให้ลูกระหว่างการตั้งครรภ์ด้วย จึงมีเปอร์เซ็นต์เป็นโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนในผู้ชาย จะประสบปัญหาโรคกระดูกพรุนอย่างช้า ๆ ตามฮอร์โมนที่ลดการสร้างลงไปเรื่อย ๆ

การป้องกันปัญหาสุขภาพนี้ทำได้โดยให้ผู้สูงวัยรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ ผักสีเขียวเข้ม เต้าหู้ ปลาเล็กทอดกรอบ และการทานรูปแบบแคลเซียมเม็ดในขนาดที่แพทย์แนะนำตามความเหมาะสมของแต่ละคน จึงจะป้องกันภาวะกระดูกพรุนในระยะยาวได้ดี

การดูแลสุขภาพผู้สูงวัยในบ้านให้ปลอดโรค

ผู้สูงอายุวัยเกิน 60 ปีขึ้นไปมักมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมัน ฯลฯ นอกจากนี้อาจมีปัญหาโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง เนื้องอกตามอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีการควบคุมชนิดของอาหารที่รับประทานมากขึ้น บุตรหลานจึงควรใส่ใจในการพาผู้สูงวัยไปพบแพทย์ประจำตัวที่โรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอพร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดต่าง ๆ ในการดูแล หรือแจ้งความผิดปกติที่พบในผู้สูงวัย หากมีคำถามควรปรึกษาแพทย์คนเดียวกันนี้ให้เข้าใจถ่องแท้ เพื่อการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุด