ประคบร้อน ประคบเย็น ต่างกันตรงไหน ควรเลือกใช้ให้ถูกวิธี

ลูกประคบสมุนไพร

ลูกประคบสมุนไพร อาจไม่เป็นที่รู้จักในหมู่เด็กยุคใหม่ แต่สำหรับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่และปู่ย่า ตายาย ล้วนแต่รู้จักและใช้รักษาอาการต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน ปัจจุบันการแพทย์ทางเลือกหรือแพทย์แผนไทย นิยมใช้บำบัดรักษา เนื่องจากมีผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นต่าง ๆ มากขึ้น แม้ในแวดวงกีฬาและสันทนาการ เพื่อเป็นความรู้ให้กับคนทั่วไปได้เลือกใช้ลูกประคบให้เหมาะสมกับอาการเจ็บบาดเจ็บ เมื่อเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินกะทันหัน เช่น หกล้ม สะดุด ตกบันได หรือเกิดอุบัติเหตุอื่น ๆ อย่างน้อยก็จะช่วยบรรเทาอาการก่อนจะไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไปได้

  • การประคบร้อน ใช้เพื่อช่วยลดอาการปวดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ได้แก่ อาการปวดเมื่อย และตึงกล้ามเนื้อบริเวณ บ่า หลัง ไหล่ ต้นคอ น่อง ต้นขา และอาการปวดประจำเดือน โดยเริ่มประคบหลังจากมีอาการแล้วประมาณ 48 ชั่วโมง โดยใช้ผ้าขนหนู กระเป๋าน้ำร้อน หรือลูกประคบ ที่ไม่ร้อนจัดจนเกินไป ประคบบริเวณที่ปวดตึงครั้งละ 20-30 นาทีประมาณ 2-3 ครั้งต่อวัน ไม่ควรประคบในบริเวณที่มีบาดแผลหรือมีเลือดออก หรือประคบนานเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มมากขึ้น ประโยชน์ของลูกประคบสมุนไพร ใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อย ช่วยลดอาการบวมอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ ช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อและข้อต่อ และยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตให้ดียิ่งขึ้นด้วย
  • การประคบเย็น สามารถทำได้ทันทีเมื่อมีอาการปวดหรือได้รับบาดเจ็บเช่น ปวดศีรษะ เป็นไข้ ปวดฟัน ข้อเท้าบวม เคล็ด เลือดกำเดาไหล หรือ มีอาการปวดบวมตามร่างกายในบริเวณอื่น ๆ โดยใช้น้ำแข็งหรือเจลทำความเย็นประคบตรงจุดที่มีอาการ วันละ 2-3 ครั้ง ประมาณครั้งละ 20 นาที

สำหรับการเลือกใช้การประคบด้วยความร้อนหรือความเย็นนั้นมีหลักพิจารณาเบื้องดังนี้

  1. หากผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บเฉียบพลันร่วมกับอาการบวมอย่างเห็นได้ชัด ควรเลือกใช้การประคบเย็น เพราะความเย็นช่วยลดอาการบวม อักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเส้นเลือดฝอยภายในกล้ามเนื้อฉีกขาดลง
  2. มีอาการปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือเรื้อรัง อาจมีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อร่วมด้วย แนะนำให้ใช้การประคบร้อนเพื่อช่วยลดอาการปวดและคลายกล้ามเนื้อ
  3. สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคความดันโลหิตสูง ควรระมัดระวังเรื่องการประคบเย็น เพราะความเย็นจะทำให้หลอดเลือดส่วนปลายหดตัว ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้นได้ หรือเป็นโรคแพ้ความเย็นอย่างรุนแรง บางรายอาจแสดงอาการโดยมีผื่นแดงเกิดขึ้น เป็นต้น
  4. กรณีผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่มีอาการปวดบวมอักเสบ เอ็น ข้อ กล้ามเนื้อ ไม่ควรใช้การประคบด้วยอุณหภูมิที่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

หากจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือบำบัดรักษาอาการปวดบวมเบื้องต้น ควรพิจารณาให้รอบคอบ หรือสอบถามผู้รู้ก่อนตัดสินใจ ทางที่ดีรีบไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที